ประวัติวัด

ประวัติโดยสังเขป
                วัดแพรกก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางเห็นจะได้  เพราะตามหลักฐานเดิม  กล่าวว่าชาวมอญสร้างขึ้น
                มีเรื่องกล่าวเอาไว้ว่า  ที่ดินตรงที่ตั้งวัดแพรกเป็นท้องนา  และส่วนใหญ่เป็นไม้ประเภทไม้ไผ่  ไม้ยาง  และที่ลุ่ม  มีพวกชาวมอญอยู่อาศัยเป็นอันมาก
                มีครอบครัวมอญครอบครัวหนึ่ง  ชื่อนายทอง  ที่ชาวบ้านเรียกแกว่า  ท่านขุนทอง  คำว่าท่านขุนทองนี้แปลว่าอะไรไม่ทราบได้  อาจเป็นผู้ใหญ่บ้าน  หรือกำนันก็ได้ (เป็นความคิดเห็นของเจ้าอาวาส)  นายทองมีภรรยานางแจก  ครอบครัวนี้มีบุตรหญิง ๓ คน  บุตรชาย ๑ คน  ชื่อนายมาก  หรือนายบุญมาก  เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี  ท่านขุนทองและนางแจก  ก็ได้ให้นายบุญมากบวชพระ  การบวชก็แห่เดินลัดทุ่งไปบวชที่วัดปรางหลวง  หรือเรียกในสมัยนั้นว่าวัดป่ายาง  เมื่อได้บวชพระเรียบร้อยแล้ว  ก็ได้อาศัยจำพรรษาที่วัดโบสถ์บน  ส่วนชื่อเดิมของวัดนี้ผุขาดไม่สามารถอ่านได้  เมื่อถึงกำหนดเทศกาลเข้าพรรษา  คือเข้าหน้าฝน  ท่านขุนทองนางแจกและครอบครัว  ก็ไปทำบุญใส่บาตรวัดที่พระลูกจำพรรษา  การไปมาก็แสนที่จะลำบากแสนเข็ญ  การไปก็ต้องตื้นตั้งแต่ตี ๔-๕  จัดอาหารคาวหวานใส่หาบพร้อมเสื้อผ้าไปผลัดเปลี่ยนด้วย  เพราะเปียกน้ำค้างในระหว่างทางเดิน  กว่าจะกลับถึงบ้านก็ตอนเย็น  ปฏิบัติอย่างนี้เป็นประจำตลอดพรรษา(๓ เดือน)  พระบุญมาก  อธิปญฺโญ  ได้เห็นความลำบากของโยมพ่อโยมแม่และญาติๆ  ที่ไปทำบุญ  พอพระออกพรรษาแล้ว  พระบุญมากจึงได้มาปรารภกับโยมพ่อและโยมแม่ของท่าน  ว่าสมควรสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้านของพวกตน   ก็มาตกลงว่าจะสร้างที่ตรงไหนดี  นางแจกก็เอ่ยขึ้นว่า  ขอให้พี่น้องช่วยกันจริงๆ  ฉันให้ที่นาของฉัน ๙ ไร่  จึงได้ตกลงกันสร้างวัดขึ้น  ได้นิมนต์พระอาจารย์บัว  หรืออาจารย์สายบัว  ธมฺมรกฺขิโต  มาเป็นประธานพาสร้าง  บรรดาญาติพี่น้องทั้งหลายเรียกกันว่า “วัดยายแจก”  เรียกกันเรื่อยมาจนกระทั้งท่านขุนทองได้ถึงแก่กรรม  นางแจกก็สร้างวิหารอุทิศให้ท่านขุนทอง  ต่อมาท่านอาจารย์สายบัวได้มรณะภาพ  นางแจกก็ได้สร้างพระพุทธรูปปางป่าเรไรขึ้น ๒ องค์  ไว้หน้าวิหาร  บรรดาชาวพุทธก็พากันเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า  หลวงพ่อบัว  ชาวบ้านทั้งหลายเคารพนับถือกันมาโดยตลอด  กราบไหว้บูชาแทนอาจารย์สายบัว  เพราะเชื่อถือว่าท่านอาจารย์สายบัวเข้าสิงอยู่  จนกลายเป็นศักดิ์สิทธิ์  อยู่ประมาณมา ๑๐๐ ปี เห็นจะได้  คนรุ่นใหม่สมัยนั้นก็ได้เรียกวัดยายแจกเพี้ยนมาเป็นวัดแพรก  ราวๆปี  พ.ศ. ๒๒๓๐  เห็นจะได้  จึงได้เรียกกันว่าวัดแพรกมาจนทุกวันนี้  ส่วนพระอาจารย์บัว  หรือเรียกว่าหลวงพ่อบัวนั้น  ก็ได้มีคำต่อเติมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕-๒๔๘๖
                เรื่องราวมีอยู่ว่าปลายปี พ.ศ.๒๔๘๕  น้ำมากเรียกว่าปีน้ำหลาก  น้ำท่วมโดยทั่วถึงแทบทุกภาคของประเทศไทยเรา  ไร่นาล่มจมเสียหายผู้คนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า  ผู้คนแถววัดแพรกก็ถูกน้ำท่วมก็พากันขนข้าวของไปเก็บฝากไว้ที่วิหารวัดแพรก  เพราะวิหารที่วัดแพรกน้ำไม่ท่วม  แม้น้ำจะขึ้นสูงกว่าขอบบานประตูวิหารหลังนี้  แต่น้ำไม่เข้าไปด้านในได้เลย  เป็นเพราะเหตุนี้เองชาวบ้านจึงให้ขนานนามว่า “หลวงพ่อบัวลอย” มาจนถึงทุวันนี้
                สันนิษฐานดูแล้วว่าวัดแพรกน่าจะมาจากคำว่า “แจก” นี้เอง  และคำว่า “หลวงพ่อขุนทอง”  ที่ชาววัดแพรกตั้งศาลให้ว่าเป็นเจ้าของวัดนั้น  ก็คงมาจากท่านขุนทองนั้นเอง  ส่วน “หลวงพ่อบัวลอย”  ก็คงมาจากท่านอาจารย์สายบัว  ธมฺมรกฺขิโต  นี่เอง
                ฉะนั้นวัดแพรกจึงจะพอสันนิษฐานได้ว่ามีอายุนับตั้งแต่วันก่อตั้งมาถึงปัจจุบันทุกวันนี้  ประมาณ ๓๐๐ ปีเศษ เห็นจะได้.       

ผู้บริจาคที่ดินสร้างวัด
นายทอง – นางแจก  สกุล  มงคลแท้
พระที่มาเป็นประธานพาสร้างวัด
พระอธิการบัว  ธมฺมรกฺขิโต  สกุล  บัวแก้ว
พระที่ขออนุญาตตั้งวัด
พระอธิการบุญมาก  อธิปญฺโญ  สกุล  มงคลแท้
                วัดยายแจก (แพรก) เป็นวัดถูกต้องตามกฏหมาย วันที่ ๑๗  เดือนมิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๒๒๓๙  ตำบลศรีษะคู  อำเภอบางใหญ่  แขวงเมืองนนทบุรี
                ในช่วง  ๒๒๕๗  ถึง ๒๔๒๐  ไม่มีชื่อเจ้าอาวาส  วัดคงจะร้าง  หรือก็ไม่ได้ตั้งเจ้าอาวาส  อาจเป็นเพราะมาอยู่กันไม่นาน  คือมามาไปไป  จึงไม่มีเจ้าอาวาส
                ปี ๒๔๒๑  ถึง ๒๔๓๒     มีพระอธิการแช่ม
                ปี ๒๔๓๓  ถึง ๒๔๕๕     มีพระอธิการผ่อง
                ปี ๒๔๕๖  ถึง ๒๔๗๒     มีพระอธิการธรรม
                ปี ๒๔๗๓ ถึง ๒๔๘๑       มีพระอธิการพรม
                ปี ๒๔๘๒ ถึง ๒๔๙๗      มีพระอธิการศิล (สิน)
                ปี ๒๔๙๘ ถึง ๒๕๐๓        มีพระอธิการจุ่น
                ปี ๒๕๐๔ ถึง ๒๕๑๔        มีพระอธิการไสว
                ปี ๒๕๑๕ ถึง ๒๕๒๐       มีพระสมุห์บุญชู
                ปี ๒๕๒๑ ถึง ๒๕๓๐       มีพระครูสมุห์โสภณ
                ปี ๒๕๓๑ ถึง ๒๕๔๙       มีพระครูปลัดอภิรักษ์  อตฺตกาโม
                ปี ๒๕๕๐ ถึง ปัจจุบันมี     พระอธิการสุวิทย์  ชาตเมโธ

                ทั้งหมดนี้ที่เอามาเขียนนี้  บางส่วนค้นมาจากกรมการศาสนาบ้าง  บางส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุมากๆ  บอกเล่าบ้าง  (จึงคิดว่าชื่อเจ้าอาวาสอาจมีการสับสนบ้าง เรียงไม่ตรงกับความเป็นจริง)  ก็ขออภัยด้วย                   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น